หลักการและเหตุผล

ธุรกิจงานก่อสร้างจัดเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม แต่เนื่องด้วยปัญหาการขาดแคลนแรงงานและช่างฝีมือก่อสร้างในปัจจุบันรวมทั้งค่าแรงที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบทำให้ต้นทุนการก่อสร้างนั้นสูงขึ้น งานวิจัยนี้จึงมีแนวคิดที่จะศึกษาระบบชิ้นส่วนโครงสร้างสำเร็จรูป (Prefabricated Construction System) ที่เหมาะสม ด้วยเหตุผลหลัก คือ ลดค่าใช้จ่ายในงานก่อสร้าง ลดระยะเวลาในการก่อสร้าง และสามารถควบคุมคุณภาพของวัสดุและเทคนิคการก่อสร้างได้ดีกว่าระบบการก่อสร้างแบบดั้งเดิมที่เป็นโครงสร้างระบบเสา-คานแบบหล่อ (Conventional Construction System)

"ลดค่าใช้จ่าย ลดระยะเวลา และสามารถควบคุมคุณภาพในการก่อสร้าง"

กระบวนการก่อสร้างอาคารต่าง ๆ ส่วนใหญ่ใช้การออกแบบคอนกรีตเสริมเหล็กเป็นหลัก ระบบโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กมีปัจจัยหลายประการที่ส่งผลต่อระยะเวลาการก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการติดตั้งแบบหล่อ วางเหล็กเสริมต่าง ๆ ระยะเวลาการพัฒนากำลังของคอนกรีตส่งผลต่อการถอดแบบและค้ำยัน ทุกขั้นตอนต้องใช้แรงงานหรือเครื่องจักรในการทำงาน ทั้งหมดนั้นค่าใช้จ่ายของแรงงานและเครื่องจักรจะน้อยลง ใช้เวลาในการก่อสร้างสั้นลงทำให้กำไรเพิ่มขึ้น ดังนั้นระบบการก่อสร้างด้วยชิ้นคอนกรีตสำเร็จรูปจึงเริ่มนำมาใช้

"เพื่อลดขั้นตอนการทำงาน แรงงาน และระยะเวลาก่อสร้าง"

ชิ้นส่วนคอนกรีตสำเร็จรูปที่ได้จากการหล่อ หรือเทในแบบหล่อที่มีขนาดต่าง ๆ ในโรงงาน หรือในบริเวณก่อสร้างให้เสร็จก่อน แล้วจึงนำไปติดตั้งประกอบกันที่หน่วยงานก่อสร้างโดยใช้อุปกรณ์การติดตั้งที่เหมาะสม ชิ้นส่วนคอนกรีตสำเร็จรูปได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในกลุ่มงานพัฒนาโครงการบ้านจัดสรรและงานก่อสร้างอาคารสูง เนื่องจากช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานและฝีมือแรงงานในการก่อสร้างลงได้มาก ทำให้ผู้ประกอบการสามารถส่งมอบงานที่มีคุณภาพได้รวดเร็วขึ้น ภายใต้งบประมาณที่กำหนด

"สามารถส่งมอบงานที่มีคุณภาพได้รวดเร็วขึ้น ภายใต้งบประมาณที่กำหนด"

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

เพื่อศึกษาทางเลือกในการเลือกใช้เทคโนโลยีการก่อสร้างด้วยระบบชิ้นส่วนสำเร็จรูปที่สามารถประหยัดค่าก่อสร้าง ลดระยะเวลาในการก่อสร้าง และแรงงานคนได้

เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของการจัดทำโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางโดยนำระบบอุตสาหกรรมแบบชิ้นส่วนสำเร็จรูปมาใช้ในการออกแบบและก่อสร้าง  ทั้งในด้านกายภาพ การผลิต  การเงิน การลงทุน การร่วมลงทุน ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงวิเคราะห์ความเสี่ยงของโครงการ

เพื่อเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีการออกแบบและระบบการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยประเภทต่างๆ ของการเคหะแห่งชาติไปสู่ระบบอุตสาหกรรมที่ได้มาตรฐานในระดับสากล

เพื่อเป็นต้นแบบในการก่อสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย-ปานกลางของการเคหะแห่งชาติ


พื้นที่การศึกษา

ศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบระบบการก่อสร้างชิ้นส่วนสำเร็จรูป ได้แก่ ความต้องการของผู้พักอาศัยที่มีรายได้น้อย-ปานกลาง วิธีและกระบวนการออกแบบ เปรียบเทียบระยะเวลา ข้อดี-ข้อเสีย ปัญหาและอุปสรรคต่างๆ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาออกแบบและจัดทำแบบก่อสร้างอาคารต้นแบบระบบชิ้นส่วนสำเร็จรูป อย่างน้อย 4 แบบ

ขอบเขตด้านเนื้อหา

  1. ทบทวนวรรณกรรมโครงการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับระบบชิ้นส่วนสำเร็จรูปที่มีอยู่เดิมของการเคหะแห่งชาติ
  2. รวบรวมและวิเคราะห์แนวคิด  ทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
  3. ศึกษาดูงานการออกแบบระบบการก่อสร้างที่ใช้ระบบอุตสาหกรรมแบบชิ้นส่วนสำเร็จรูป
  4. ออกแบบและจัดทำแบบก่อสร้างอาคารต้นแบบระบบชิ้นส่วนสำเร็จรูป อย่างน้อย 4 แบบ
  5. จัดทำรายการคำนวณโครงสร้างอาคารต้นแบบระบบชิ้นส่วนสำเร็จรูป อย่างน้อย 4 แบบ
  6. จัดทำประมาณการค่าก่อสร้างอาคารต้นแบบระบบชิ้นส่วนสำเร็จรูป อย่างน้อย 4 แบบ  โดยเปรียบเทียบกับระบบก่อสร้างปกติ
  7. วิเคราะห์ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและสังคมของอาคารต้นแบบระบบชิ้นส่วนสำเร็จรูป อย่างน้อย 4 แบบ
  8. วิเคราะห์ความเสี่ยงของโครงการและเสนอแนวทางการจัดการความเสี่ยงของอาคารต้นแบบระบบชิ้นส่วนสำเร็จรูป อย่างน้อย 4 แบบ
  9. จัดทำหุ่นจำลองอาคารต้นแบบระบบชิ้นส่วนสำเร็จรูป อย่างน้อย 4 แบบ โดยใช้วัสดุอะคริลิคหรือวัสดุอื่นที่เหมาะสม พร้อมฐานไม้และฝาครอบหุ่นจำลอง
  10. จัดทำสื่อมัลติมีเดียเพื่อการศึกษา

  1. ได้รับองค์ความรู้ ทราบปัญหาและอุปสรรค ข้อดีและข้อเสีย เทคนิคและวิธีการขั้นตอนการทำงานและการผลิต ของการนำระบบอุตสาหกรรมแบบชิ้นส่วนสำเร็จรูปมาใช้ในการออกแบบและก่อสร้างที่พักอาศัยที่เหมาะสมกับความต้องการของผู้มีรายได้น้อย-ปานกลาง
  2. ได้ผลการศึกษาของการจัดทำรูปแบบมาตรฐานที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมในการนำระบบอุตสาหกรรมแบบชิ้นส่วนสำเร็จรูปมาใช้ในการออกแบบที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง
  3. ได้ผลการศึกษาความเป็นไปได้ของการจัดทำโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง โดยใช้ระบบอุตสาหกรรมแบบชิ้นส่วนสำเร็จรูปมาใช้ในการออกแบบก่อสร้าง ทั้งในด้านกายภาพ การผลิต การเงิน การลงทุน การร่วมลงทุน ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการจัดการความเสี่ยงของโครงการ เพื่อประกอบการตัดสินใจในด้านนโยบายของการเคหะแห่งชาติในการเลือกใช้เทคโนโลยีการก่อสร้างด้วยระบบชิ้นส่วนสำเร็จรูปเพื่อลดต้นทุนในการก่อสร้าง ลดระยะเวลาในการก่อสร้าง ลดแรงงานคนในการสร้าง เป็นต้น