การเปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสีย ปัญหาและอุปสรรคต่างๆ

การเปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสีย ปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ของการออกแบบระบบชิ้นส่วนสำเร็จรูปกับระบบก่อสร้างปกติ

การก่อสร้างระบบชิ้นส่วนสำเร็จรูปเป็นเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในบ้านเรานานพอสมควร และมีหลากหลายระบบแต่ก็ยังไม่แพร่หลายมากนัก พอจำแนกเป็นข้อดีข้อเสียได้ ดังนี้

ข้อดีของการออกแบบระบบชิ้นส่วนสำเร็จรูป

  1. ลดปัญหาด้านการขาดแคลนแรงงาน ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากการก่อสร้างระบบชิ้นส่วนสำเร็จรูป เนื่องจากทำการผลิตชิ้นส่วนจากโรงงานและนำมาติดตั้งบริเวณสถานที่ก่อสร้าง และการก่อสร้างด้วยระบบชิ้นส่วนสำเร็จรูปสามารถลดงานก่อและฉาบได้ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการขาดแรงงานในส่วนนี้ได้เป็นอย่างดี
  2. ลดระยะเวลาในการก่อสร้างได้เมื่อเทียบกับระบบการก่อสร้างปกติ สามารถก่อสร้างได้อย่างสะดวกเรียบร้อยมากขึ้น เนื่องจากต้องมีการเตรียมการวางแผนตั้งแต่การออกแบบโครงสร้าง และมีการความคุมการผลิตชิ้นส่วนการก่อสร้างจากโรงงานผลิตชิ้นส่วน
  3. ลดมลภาวะเรื่องฝุ่น และเสียงในขณะการก่อสร้าง ในบริเวณสถานที่ก่อสร้างได้เป็นอย่างดี
  4. ลดต้นทุนในการก่อสร้าง เมื่อมีการก่อสร้างรูปแบบอาคารที่ซ้ำกันเป็นจำนวนมาก และจากการออกแบบที่ครอบคลุมทุกขั้นตอนสามารถลดการใช้วัสดุอย่างชิ้นเปลืองและมีการสูญเสียน้อย
  5. โครงสร้างของอาคารระบบชิ้นส่วนสำเร็จรูปมีความแข็งแรงมากกว่าเมื่อเทียบกับระบบก่อสร้างปกติ เนื่องจากมีองค์ประกอบของโครงสร้างอาคารสามารถรับแรงได้

ข้อเสียของการออกแบบระบบชิ้นส่วนสำเร็จรูป

  1. ต้องมีการเตรียมงานที่รอบคอบ และครอบคลุมทุกขึ้นตอนของการก่อสร้างซึ่งจะทำให้ปริมาณงานในส่วนของการเตรียมงานและจัดทำ Shop Drawing มากขึ้น เมื่อเทียบกับการก่อสร้างระบบปกติ เนื่องจากต้องคำนึงถึง การผลิต การขนส่ง และการติดตั้ง เป็นอย่างมาก
  2. การออกแบบในด้านความสวยงามของโครงสร้างอาคารจะทำได้ยากขึ้น เนื่องจากผลิตระบบชิ้นส่วนสำเร็จรูปจำเป็นต้องมีการออกแบบชิ้นส่วนที่มีรูปแบบที่ง่ายต่อการผลิต กาขนส่ง และการติดตั้ง จึงทำให้เป็นข้อจำกัดในการออกแบบของการก่อสร้างระบบชิ้นส่วนสำเร็จรูป
  3. ข้อจำกัดของขนาดชิ้นส่วนสำเร็จรูป จะขึ้นอยู่กับการขนส่งและอุปกรณ์การยกติดตั้ง เช่น ขนาดของรถขนส่ง การรับน้ำหนักของถนน และขนาดของรถเครน หากมีการออกแบบชิ้นส่วนสำเร็จรูปที่มีขนาดใหญ่จะต้องรถขนส่งที่ออกแบบเฉพาะ และมีอุปกรณ์ยกติดตั้งที่มีขนาดพิเศษ และจะทำให้การติดตั้งยากลำบากมายิ่งขึ้น
  4. การออกแบบชิ้นส่วนสำเร็จต้องคำนึงถึงรูปแบบของชิ้นส่วนที่มีจำนวนมากและขนาดเดียวกัน เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพในการผลิตสูงสุด และลดต้นทุนวัสดุในการทำแบบหล่อ
  5. ความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้างระบบชิ้นส่วนสำเร็จรูปจะขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของจุดต่อที่เชื่อมชิ้นส่วนสำเร็จรูปแต่ละส่วนเข้าด้วยกัน ซึ่งมีความซับซ้อนในการผลิตและการติดตั้งที่ทำได้ยาก
  6. การก่อสร้างด้วยระบบชิ้นส่วนสำเร็จรูป ด้วยทั่วไปแล้วแผ่นพื้นและผนังจะมีรอยต่อซึ่งต้องเสี่ยงต่อการรั่วซึมของรอยต่อที่สัมผัสน้ำ
  7. มีการลงทุนในระยะแรก เนื่องจากการสร้างโรงงานผลิตชิ้นส่วนสำเร็จรูป
  8. ผู้มีความรู้และความชำนาญในการก่อสร้างระบบชิ้นส่วนสำเร็จที่น้อย เนื่องจากเป็นระบบการก่อสร้างรูปแบบใหม่ที่นำเข้ามาใช้ในประเทศไทยได้ไม่นานมากนัก จึงทำให้ไม่เป็นที่นิยมและใช้ในการก่อสร้างที่แพร่หลายมากนัก

ปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ของการออกแบบระบบชิ้นส่วนสำเร็จรูป

ด้านการออกแบบ

  1. ในระบบการก่อสร้างชิ้นส่วนคอนกรีตสำเร็จรูปชนิดผนังรับน้ำหนัก ไม่สามารถทุบผนังและต่อเติมได้ จึงไม่เหมาะสมกับความนิยมของคนไทยที่มักเปลี่ยนแปลงแบบบ้านของตนเอง หรือเพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอย ฉะนั้นสถาปนิกและวิศวกรควรจะออกแบบบริเวณอาคารส่วนที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้เผื่อไว้ด้วย
  2. การออกแบบระบบชิ้นส่วนคอนกรีตสำเร็จรูป สถาปนิกและวิศวกรต้องทำงานประสานกันอย่างใกล้ชิด เพราะความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้างต้องสัมพันธ์กับความสวยงาม และประโยชน์ใช้สอย
  3. รายละเอียดการออกแบบระบบชิ้นส่วนสำเร็จรูปมีรายละเอียดมากกว่างานออกแบบระบบก่อสร้างปกติเป็นอย่างมาก ซึ่งต้องยอมเสียเวลาในการให้รายละเอียดของแต่ละชิ้นส่วน และการเชื่อมต่อเข้าด้วยกันเป็น เนื่องจากเป็นส่วนที่สำคัญมากของการก่อสร้างระบบชิ้นส่วนสำเร็จรูป
  4. มีความยุ่งยากในการนำแบบก่อสร้างระบบก่อสร้างปกติที่มีอยู่แล้ว มาทำการดัดแปลงเป็นระบบชิ้นส่วนสำเร็จรูป จะทำได้ยาก และยุ่งยาก เนื่องจากต้องคำนึงถึงทุก ๆ  องค์ประกอบตั้งแต่ต้น
  5. ปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดขนาดของพิกัดในการก่อสร้างระบบชิ้นส่วนสำเร็จรูป ที่มีความสอดคล้องนำไปสู่ระบบประสานพิกัดแบบเปิด (Open system)
  6. การออกแบบระบบการก่อสร้างสำเร็จรูปต้องคำนึงถึงเกณฑ์ในการติดตั้งหรือยกน้ำหนัก
  7. การออกแบบระบบการก่อสร้างสำเร็จรูปต้องมีระยะเผื่อสำหรับความคลาดเคลื่อนของตำแหน่งที่เป็นจุดรอยต่อของโครงสร้างอาคาร
  8. มีความยืดหยุ่นในการออกแบบที่น้อย เนื่องจากต้องใช้แบบหล่อไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างอิสระเพราะจะทำให้สิ้นเปลืองแบบหล่อ
  9. หลีกเลี่ยงชิ้นส่วนที่มีแขน ขา ยื่นออกมาจะทำให้การขนส่งสินค้า และขนย้ายยุ่งยาก
  10. มีรอยต่อที่สามารถทำให้ง่ายต่อการทำงานในสนาม เพื่อความรวดเร็วและลดความผิดพลาด

ด้านการก่อสร้าง

  1. อาจเกิดความคลาดเลื่อนของระยะเวลาก่อสร้าง เนื่องจากปัญหาด้านแรงงาน การผลิต และการขนส่ง ซึ่งทำให้ก่อสร้างหยุดชะงัก และเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น
  2. ต้องมีการควบคุมในการก่อสร้างระบบชิ้นส่วนสำเร็จรูป ให้ได้มาตรฐานมากกว่าการก่อสร้างระบบทั่วไป
  3. ช่างเชื่อมควรเป็นช่างที่มีความชำนาญและประสบการณ์ในการทำงาน และควรผ่านการทดสอบด้านการเชื่อมที่มีมาตรฐาน เนื่องจากรอยต่อระหว่างแผ่นคอนกรีตสำเร็จรูปเป็นสิ่งสำคัญของการก่อสร้างระบบชิ้นส่วนสำเร็จรูป
  4. การขนส่งและการติดตั้งที่ยุ่งยากมากขึ้น เมื่อชิ้นส่วนสำเร็จรูปมีขนาดใหญ่และน้ำหนักมาก
  5. ต้องมีการวางแผนงานสำหรับการขนส่งชิ้นส่วนสำเร็จรูปจากโรงงาน และติดตั้งทันโดยไม่ต้องนำแผนไปเก็บไว้ในโกดัง
  6. ผู้รับเหมาและลูกจ้างจะคุ้นเคยกับการก่อสร้างระบบปกติมากกว่า ซึ่งทำให้ขาดความเข้าใจในขั้นตอนการทำงาน และชำนาญในการติดตั้ง

กรณีศึกษาข้อดี-ข้อเสียของการก่อสร้างระบบสำเร็จรูปของโครงการบ้านเอื้ออาทร

ที่ผ่านมาทางการเคหะแห่งชาติได้มีริเริ่มสร้างบ้านเอื้ออาทร โดยใช้ระบบชิ้นส่วนสำเร็จรูป มาเป็นวิธีในการก่อสร้างบ้านเอื้ออาทรหลายโครงการ ซึ่งแต่ละโครงการได้มีการก่อสร้างด้วยระบบสำเร็จรูปที่แตกต่างกัน ทางการเคหะแห่งชาติจึงได้ทำการศึกษาติดตามและประเมินผล ข้อดี-และข้อเสีย ของการก่อสร้างระบบอุสาหกรรมอาคารพักอาศัย กรณีศึกษาโครงการบ้านเอื้ออาทร ซึ่งได้ติดตามการดำเนินงานก่อสร้างในแต่ละโครงการ สามารถสรุปได้ ดังนี้

โครงการก่อสร้างอาคารชุด 5 ชั้น ระบบผนังรับน้ำหนัก ของบริษัท อิตาเลี่ยนไทย ดีเวลล็อปเมนท์ จำกัด (ITD)

ข้อดี

  1. การก่อสร้างระบบผนังรับน้ำหนัง ทำให้มีโครงสร้าง Shear Wall ซึ่งสามารถรับแรงแผ่นดินไหวได้ดี
  2. คุณภาพของชิ้นส่วนที่ผลิตในโรงงานมีคุณภาพดี
  3. การผลิตและติดตั้งสามารถเร่งผลิตให้ได้ตามแผน เนื่องจากระบบผลิตและติดตั้งสามารถแยกการดำเนินงานโดยไม่ขึ้นตรงต่อกัน
  4. ลดงานก่อฉาบ ซึ่งเป็นงานที่ต้องใช้แรงงานฝีมือเป็นจำนวนมากได้
  5. งานคอนกรีตหล่อในที่ ซึ่งเป็นงานเปียกมีน้อยทำให้สถานที่ก่อสร้าง สะอาดกว่า รวมทั้งลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากฝุ่นลง
  6. ระยะเวลาสามารถควบคุมได้
  7. เหมาะสมกับงานก่อสร้างจำนวนมาก ๆ

ข้อเสีย

  1. ระบบรอยต่อของแผ่นจำเป็นต้องใช้ Non Shrink Grout ซึ่งมีราคาแพง รอยต่อบางจุดตรวจสอบคุณภาพได้ยาก
  2. ในการ Grout ปูนพบ Shrinkage ที่ได้แผ่นเป็นจำนวนมาก เนื่องจากแผนวางตั้งอยู่ หัวน๊อต ปูน Grout ไม่ได้ถูก Compress ตลอดเวลา ในการเกิดรอยร้าวนั้นทำให้อากาศเข้าไป ซึ่งจะทำให้ลดอายุการใช้งานของโครงสร้างลง
  3. โครงสร้างของคานคอดินส่วนมากเป็น Hinged Joint ส่วนโครงสร้าง Bearing Wall จะต่อเนื่องทำให้บางครั้งพบรอยร้าวในแผนโครงสร้าง เนื่องจากความแตกต่างของ Degree of Rotation ระหว่างคานและผนัง
  4. การทรุดตัวของคานคอดินเป็นอิสระ ดังนั้นในการคำนวณออกแบบให้คำนึงถึง Differential Settlement ที่จะเกิดขึ้นในภายภาคหน้า
  5. ระบบโครงสร้างโดยรวมตรงบริเวณบันไดหนีไฟ ควรตรวจสอบคุณภาพของรอยต่อบันไดให้ดีเพื่อป้องกันการ Collapse เนื่องจากแผ่นดินไหว
  6. ระบบโครงสร้างบางส่วนต้องใส่ Transfer Beam เนื่องจากตำแหน่งของผนังรับน้ำหนักชั้นล่างไม่ตรงกับชั้นบน ซึ่งทำให้ลดการต้านแผ่นดินไหว ดังนั้นการที่จะทำไปสร้างในโซนแผ่นดินไหวจะต้องทำการวิเคราะห์ให้ดี
  7. การลงทุนในการผลิตชิ้นส่วนครั้งแรกค่อนข้างสูง
  8. การตรวจสอบคุณภาพของแผ่นในโรงงานต้องระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากพบปัญหาเรื่องรอยต่อไม่ตรงกัน
  9. การบริหารจัดการถึงแม้จะดูง่ายกว่า แต่จำเป็นต้องใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ ซึ่งบางครั้งต้องสั่งเข้ามาจากต่างประเทศ
  10. ในการขยายอาคารหรือต่อเติมจะทำได้ยาก ซึ่งต้องมีการวางแผนและออกแบบอาคารไว้ เพื่อการขยายและต่อเติมในอนาคต

โครงการก่อสร้างอาคารชุด 5 ชั้น ระบบเสา คาน ของบริษัท ธนสิทธิ์ คอนกรีต จำกัด

ข้อดี

  1. คุณภาพของชิ้นส่วนที่ผลิตในโรงงานสามารถควบคุมงานคอนกรีตได้ดี
  2. ลดงานเทคอนกรีตโครงสร้าง (ลดแรงงานลงบางส่วน)
  3. การผลิตและติดตั้งสามารถดำเนินได้ตามแผน
  4. ผนัง ค.ส.ล. สำเร็จรูปภายในลดงานก่อฉาบ
  5. ในการก่อสร้างในบางพื้นที่ที่ไม่ต้องการกำลังการผลิตมาก อีกทั้งมีโรงงานผลิตเสาเข็มอยู่ในพื้นที่ ซึ่งสามารถนำมาดัดแปลงใช้ผลิตชิ้นส่วนโครงสร้างได้
  6. สามารถขยายและต่อเดิมอาคารได้ในอนาคต

ข้อเสีย

  1. จากผลการทดลองในห้องปฏิบัติการแล้ว พบว่ารอยต่อชิ้นส่วนโครงสร้างเสียหายก่อนโครงสร้าง ซึ่งถ้ามีรอยต่อที่ดีแล้วการเกิดความเสียหายควรพร้อมกับโครงสร้าง
  2. ในการนำ Prestressed คอนกรีตเข้ามาใช้ ควรพิจารณา Creep และ Shrinkage ในชิ้นส่วนซึ่งเป็นผลกับรอยต่อโครงสร้าง
  3. รอยต่อชิ้นส่วนโครงสร้างเมื่อเกิด Creep และ Shrinkage ในคานแล้วเป็นผลให้อากาศสามารถเข้าไปสัมผัสกับเหล็กโครงสร้าง ซึ่งเป็นผลต่ออายุการใช้งาน
  4. รอยต่อโครงสร้างในคานนอกจากมีเหล็กเชื่อมต่อแล้ว ควรมี Shear Key เพื่อเป็น Safety เพราะคานเกิด Creep และ Shrinkage เนื่องจากลด Prestressed
  5. ในการจัดระบบเสาคานแล้ว ขั้นตอนการติดตั้งจะต้องนำมาพิจารณาให้ดี เนื่องจากโครงสร้างส่วนบันไดหนีไฟ ไม่สามารถติดตั้งไปพร้อมกันได้ ทำให้ต้องใช้เครื่องจักร Stand by อันเป็นผลให้ราคาค่าก่อสร้างสูงขึ้น
  6. ในการที่ขบวนการติดตั้ง การผลิต และงานสถาปัตย์ใช้เวลาก่อสร้างต่างกัน การบริหารการจัดการพื้นที่จะกองชิ้นส่วนสำเร็จรูปต้องดี มิฉะนั้นจะเกิดการ Loss ของชิ้นส่วนเป็นจำนวนมาก
  7. ผนังโดยรอบใช้ก่ออิฐฉาบปูน ซึ่งเป็นสาเหตุให้งานล่าช้าลง แต่สามารถลงการรั่วซึมของอาคารโดยรอบ อย่างไรก็ดี รอยต่อพื้นกับคาน ยังคงต้องป้องกันให้ดี มิฉะนั้นจะเกิดการรั่วซึม
  8. การทำ Shop Drawing รอยต่อจำเป็นสำหรับงานติดตั้งภาคสนาม พบว่าในรอยต่อมีการดุ้งเหล็กมาก

โครงการก่อสร้างอาคารชุด 5 ชั้น ระบบหล่อในที่ผนังรับน้ำหนัก ของบริษัท ไมวาน จำกัด

ข้อดี

  1. ระบบ Wall Bearing มีโครงสร้าง Shear Wall ซึ่งสามารถรับแรงแผ่นดินไหวได้ดี
  2. คุณภาพของงานเทคอนกรีตใน Site งานยังคงต้องควบคุมให้ดี เพราะต้องเทคอนกรีตในผนังที่แคบมาก ๆ
  3. ในการก่อสร้างเป็นแบบ Conventional ซึ่งเป็นที่คุ้นเคยในประเทศไทย จึงไม่มีปัญหาเรื่องรอยต่อโครงสร้างและการรั่วซึม
  4. ในการก่อสร้างในพื้นที่ที่ไม่ขาดแคลนแรงงาน สามารถเร่งการก่อสร้างได้ตามแผนงาน
  5. ลดงานก่อฉาบ ซึ่งต้องการแรงงานมีฝีมือเป็นจำนวนมาก
  6. ลดการใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ โดยมาใช้แรงงานคนแทน
  7. ไม่ต้องลงทุนทำโรงงานผลิต

ข้อเสีย

  1. คุณภาพการเทคอนกรีตใน Site งานไม่ดรพอทำให้ต้องมีการปรับแต่งก่อนการทาสี
  2. จะเกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ถ้าทำไปการก่อสร้างในพื้นที่ที่ขาดแคลนแรงงาน เพราะใช้แรงงานคนแทนเครื่องจักร
  3. ใน Site งานมีงานเปียกมาก จะเกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในเรื่องฝุ่นมากกว่า
  4. ในการใช้แรงงานจำนวนมาก จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการที่ดี และมีการตรวจสอบคุณภาพของงานมากขึ้น เพื่อให้คุณภาพของงานที่เกิดจากแรงงานมีความสม่ำเสมอ
  5. ระบบการก่อสร้างแบบกำแพงรับน้ำหนักยังคงเป็นปัญหาในการขยายหรือต่อเติมในอนาคต
  6. Mould ที่นำมาใช้ในงานก่อสร้างมีราคาแพง ดังนั้นปริมาณงานจึงจำเป็นต้องมีมากพอ

โครงการก่อสร้างอาคารบ้านเดี่ยว 2 ชั้น ระบบเสา-คาน สำเร็จรูป ของห้างหุ้นส่วนจำกัดเลิศพัฒนาศรีสะเกษ

ข้อดี

  1. คุณภาพของชิ้นส่วนคอนกรีตในโรงงานสามารถควบคุมได้ดี
  2. ลดงานเทคอนกรีตโครงสร้างในโครงสร้าง
  3. การผลิตและติดตั้งสามารถดำเนินการได้ตามแผนงาน
  4. สามารถดัดแปลงโรงงานหล่อเสาเข็มหรือพื้นสำเร็จรูปในพื้นที่มาใช้ผลิตชิ้นส่วนได้ ค่าใช้จ่ายในการลงทุนทำโรงงานจึงมีไม่มาก
  5. สามารถขยายและต่อเติมได้ในอนาคต

ข้อเสีย

  1. เป็นการก่อสร้างที่ไม่ค่อยคุ้นเคยเหมือนระบบปกติ
  2. การออกแบบรอยต่อทำให้พฤติกรรมโครงสร้างเปลี่ยนไปจากเดิม อายุการใช้งานของชิ้นส่วนคงเดิม แต่บริเวณรอยต่ออายุการใช้งานลดลง เช่น รอยต่อของเสา
  3. รอยต่อบางจุดทำงานยาก ทำให้มีรอยเชื่อมที่มีคุณภาพไม่ดี
  4. รอยต่อคานจุดควรมี Shear Key เนื่องจากปูนที่ Grout ปิดรอยร้าวทำให้อากาศซึมผ่านเข้าสัมผัสเหล็กรับแรงเฉือน
  5. ค่าความคลาดเคลื่อนในการติดตั้งมีมาก การควบคุมคุณภาพและการปรับปรุงแก้ไขควรให้วิศวกรผู้ออกแบบเป็นผู้ดำเนินการ
  6. ผนังภายในอาคารใช้ระบบก่ออิฐฉาบปูน ซึ่งยังคงมีความต้องการแรงงานเป็นจำนวนมาก

โครงการก่อสร้างอาคารบ้านเดี่ยว 2 ชั้น ระบบผนังรับน้ำหนัก ของบริษัท เอกประจิม จำกัด

ข้อดี

  1. คุณภาพของงานในโรงงานขึ้นอยู่กับ Mould และการจัดวางผังโรงงาน ซึ่งคุณภาพงานคอนกรีตสามารถควบคุมได้
  2. ระบบ Wall Bearing สามารถรับแรงแผ่นดินไหวได้ดี แต่การจัดวางผนังรับน้ำหนักจะต้องจัดให้ดีไม่ควรสลับซับซ้อน
  3. การผลิตสามารถเร่งได้ตามแผน งานติดตั้งยังคงต้องปรับปรุง การออกแบบรอยต่อบางจุดทำงานยาก
  4. ลดงานก่อฉาบซึ่งเป็นงานที่ต้องให้แรงงานฝีมือเป็นจำนวนมาก
  5. งานคอนกรีตหล่อในที่ ซึ่งเป็นงานเปียกมีน้อยทำให้ Site งานสะอาดกว่า ซึ่งลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมในเรื่องฝุ่นลงได้
  6. ลดค่าขนส่งชิ้นส่วนสำเร็จรูปได้ เนื่องจากโรงงานอยู่ใน Site
  7. การลงทุนทำโรงงานน้อยกว่าโรงงานถาวรโดยเฉพาะค่าที่ดิน

ข้อเสีย

  1. ระบบรอยต่อของแผ่นที่ออกแบบไว้ติดตั้งยากทำให้ไม่สามารถเร่งงานติดตั้งให้ทันการผลิต จึงทำให้มีแผ่นวางรอการติดตั้งใน Site งานเป็นจำนวนมาก
  2. รอยต่อแบบ Dowell Bar จะทำการตรวจสอบในเรื่อง Epoxy Grout ได้ยาก
  3. ในการก่อสร้างจำเป็นต้องใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่
  4. รอยรั่วตรงบริเวณรอยต่อจะต้องตรวจสอบคุณภาพให้ดี
  5. กำแพงที่รับน้ำหนักควรมี Shear Key เพื่อป้องกัน Long term creep and shrinkage โดยเฉพาะกำแพงรับน้ำหนักที่ไม่ตรงกัน
  6. การขยายและต่อเติมอาคารจะทำได้ยาก ต้องมีวางแผนไว้ในขณะออกแบบ

 

ตาราง การเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียระหว่างการก่อสร้างระบบดั้งเดิม และการก่อสร้างระบบชิ้นส่วนสำเร็จรูป, ศุภณัฐ วัฒนสินศักดิ์ (2556)

การเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียระหว่างการก่อสร้างระบบดั้งเดิม และการก่อสร้างระบบชิ้นส่วนสำเร็จรูปดังแสดงในตาราง การก่อสร้างทั้ง 2 แบบนั้น อาจมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไปตามคุณลักษณะของวัสดุ และการผลิต พบว่าการก่อสร้างระบบชิ้นส่วนสำเร็จรูปนั้นมีผลกำไรที่มากกว่า อีกทั้งยังใช้คนงานน้อยกว่าในการก่อสร้าง แต่ก็ต้องใช้เครื่องจักรมากขึ้น เข้ามาช่วยในงาน จึงต้องอาศัยการวางแผนการทำงานเป็นอย่างดีก็จะทำให้โครงการสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก และด้วยระยะเวลาการก่อสร้างที่สั้นลงยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายทางอ้อมได้ เช่น ค่าเงินเดือนพนักงาน สำหรับปัจจัยทางด้านคุณสมบัติของวัสดุก็จะมีทั้งข้อดีและข้อเสียในแต่ละแบบ สรุปจากผลการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างการก่อสร้างแบบดั้งเดิมซึ่งได้ผลคะแนน 58.1 % และการก่อสร้างระบบชิ้นส่วนสำเร็จรูป ซึ่งได้คะแนนทั้งหมด 97.42 % จึงสรุปได้ว่าการก่อสร้างระบบชิ้นส่วนสำเร็จรูปนั้นมีประสิทธิภาพและมีความเหมาะสมต่อผู้ประกอบการธุรกิจบ้านจัดสรร